บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประวัติกฎหมายไทย

                            ....ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย……..
-------------------------------------
ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
           กฎหมายไทยมีการวิวัฒนาการมานาน เช่นเดียวกันกับกฎหมายของประเทศต่างๆ ก่อนที่ประเทศไทยจะได้ใช้ระบบประมวลกฎหมาย ไทยก็มีระบบกฎหมายใช้เป็นของตนเองเช่นกัน ซึ่งจะอยู่ในรูปของกฎหมายจารีตประเพณี ซึ่งได้ถูกปฏิบัติสืบต่อกันมาจนยอมรับว่าเป็นกฎหมายในที่สุด และก็ได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในกาลต่อมา เพื่อให้สมาชิกในชุมชนได้รู้และปฏิบัติตาม


กฎหมายในยุคสุโขทัย
ปรากฎอยู่ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ( ปีพ.. 1828-1835 ) เรียกกันว่า กฎหมายสี่บท ได้แก่
               1
.) บทเรื่องมรดก
               2.) บทเรื่องที่ดิน
               3.) บทวิธีพิจารณาความ
               4.) บทลักษณะฎีกา
               และมีการเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะโจรลงไปในครั้งรัชสมัยพญาเลอไทย กษัตริย์สุโขทัยองค์ที่4 ซึ่งมีส่วนของการนำกฎหมายพระธรรมศาสตร์มาใช้ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพราหม ซึ่งได้มีส่วนขยาย ที่เรียกว่า พระราชศาสตร์มาใช้ประกอบด้วย


กฎหมายกรุงศรีอยุธยา
               กรุงศรีอยุธยาเป็นชารธานีแห่งที่สองของไทย ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.. 1893 - 2310 พระมหากษัตริย์ในยุคนั้น ได้สร้างกฎหมายซึ่งเรียกว่าพระราชศาสตร์ไว้มากมาย พระราชศาสตร์เหล่านี้ เมื่อเริ่มต้นได้อ้างถึงพระธรรมศาสตร์ฉบับของมนูเป็นแม่บท เรียกกันว่ามนูสาราจารย์พระธรรมศาสตร์ฉบับของมนูสาราจารย์นี้ เป็นกฎหมายที่มีต้นกำเนิดในอินเดีย เรียกว่าคำภีร์พระธรรมศาสตร์ ต่อมามอญได้เจริญและปกครองดินแดนแหลมทองมาก่อน ได้แปลต้นฉบับคำภีร์ภาษาสันสกฤตมาเป็นภาษาบาลีเรียกว่า คำภีร์ธรรมสัตถัมและได้ดัดแปลงแก้ไขบทบัญญัติบางเรื่องให้มีความเหมาะสมกับชุมชนของตน ต่อจากนั้นนักกฎหมายไทยในสมัยพระนครศรีอยุธยาจึงนำเอาคำภีร์ของมอญของมอญมาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายของตน ลักษณะกฎหมายในสมัยนั้นจะเป็นกฎหมายอาญาเสียเป็นส่วนใหญ่ ในยุคนั้น การบันทึกกฎหมายลงในกระดาษเริ่มมีขึ้นแล้ว เชื่อกันว่าการออกกฎหมายในสมัยก่อนนั้น จะคงมีอยู่ในราชการเพียงสามฉบับเท่านั้น ได้แก่ ฉบับที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้งาน ฉบับให้ขุนนางข้าราชการทั่วไปได้อ่านกัน หรือคัดลอกนำไปใช้ ฉบับสุดท้ายจะอยู่ที่ผู้พิพากษาเพื่อใช้ในการพิจารณาอรรถคดี


กฎหมายกรุงรัตนโกสินทร์
                   ในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่1 เห็นว่ากฎหมายที่ใช้กันแต่ก่อนมานั้นขาดความชัดเจน และไม่ได้รับการจัดเรียงไว้เป็นหมวดหมู่ง่ายต่อการศึกษาและนำมาใช้ จึงโปรดเกล้าให้มีการชำระกฎหมายขึ้นมาใหม่ ในคำภีร์พระธรรมศาสตร์ โดยนำมารวบรวมกฎหมายเดิมเข้าเป็นลักษณะๆ สำเร็จเมื่อ พ.. 2348 และนำมาประทับตราเข้าเป็นตราพระราชสีห์ ซึ่งเป็นตราของกระทรวงมหาดไทย ตราคชสีห์ ของพระทรวงกลาโหม และตราบัวแก้ว ซึ่งเป็นตราของคลัง บนหน้าปกแต่ละเล่ม ตามลักษณะระของการปกครองในสมัยนั้น กฎหมายฉบับนั้นเรียกกันว่า กฎหมายตราสามดวงกฎหมายตราสามดวงนี้ ถือเป็นประมวลกฎหมายของแผ่นดินที่ได้รับการปรับปรุงให้มีความรัดกุม ยุติธรรมทั้งทางแพ่งและอาญา นอกจากจะได้บรรจุพระธรรมศาสตร์ตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ยังคงมีกฎหมายสำคัญๆอีกหลายเรื่อง อาทิ กฎหมายลักษณะพยาน ลักษณะทาส ลักษณะโจร และต่อมาได้มีการตราขึ้นอีกหลายฉบับ ต่อมาประเทศไทยมีการติดต่อสัมพันธ์ไมตรีกับประเทศต่างๆมาก พึงเห็นได้ว่ากฎหมายเดิมนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ จนทำให้ไทยต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต นอกจากนั้นยังไม่สามารถนำมาใช้บังคับได้ทุกกรณี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตรากฎหมายขึ้นใหม่ อาทิ พระราชบัญญัติมารดาและสินสมรส ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดวางระบบศาลขึ้นมาใหม่ และได้ให้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายทั้งจากอังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น และลังกามาเป็นที่ปรึกษากฎหมาย และในสมัยนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ก็ได้แก้ไขชำระกฎหมายตราสามดวงเดิมขึ้นใหม่ และจัดพิมพ์ขึ้นในชื่อของกฎหมายราชบุรีในปีพ.. 2440 พระบาทสมเด็จพระลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจชำระและร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ ทำการร่างกฎหมายลักษณะอาญา กฎหมายว่าด้วยการเลิกทาส กฎหมายวิธีสบัญยัติ ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและกฎหมายที่สำคัญหลายๆฉบับ และในรัชสมัยต่อมา กฎหมายไทยได้ถูกพัฒนาสืบต่อกันยาวนาน ตราบจนทุกวันนี้ มีการจัดทำประมวลกฎหมาย และร่างกฎหมายต่างๆเป็นจำนวนมาก ซึ่งกฎหมายไทยนั้น ได้รับอิทธิพลทั้งจากกฎหมายภาคพื้นยุโรป อาทิกฎหมายอังกฤษ กฎหมายฝรั่งเศส รวมทั้งจารีตประเพณีเดิมของไทยด้วย ( มีอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ5 และ 6 ว่าด้วยเรื่องครอบครัวและมรดก ) และได้รับการแก้ไขให้มีความสอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา มีกฎหมายที่ทันสมัยถูกตราขึ้นใหม่ๆตลอด เช่นกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา หรือที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
                   พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ มีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยประสูติจากเจ้าจอมมารดาตลับ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2417 ทรงสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมาย ณ สำนักไครสต เซิร์ซ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมทางด้านกฎหมาย เมื่อปี พ..2439 หลังจากนั้นทรงเข้ารับราชการในกรมราชเลขานุการ ทรงปฏิบัติงานเป็นที่พอพระราชหฤทัยในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ เป็นอย่างยิ่ง
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ นับได้ว่าทรง เป็นนักกฎหมายที่ยึดหลักนิติธรรมในการใช้กฎหมายเป็นวิชาชีพ ทรงมีส่วนสำคัญมากที่สุดพระองค์หนึ่งในการพัฒนางานด้านกฎหมายในประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าอีกทั้งทรงเป็นผู้วางรากฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกฎหมาย ทรงมีผลงานทางกฎหมายมากมายหลายประการ เช่น
               1. ทรงเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและจัดวางระเบียบศาลยุติธรรมของประเทศจากระบบเก่า มาสู่ระบบใหม่ ปรับปรุงศาลต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง พร้อมทั้งแก้บทกฎหมายวิธีการพิจารณาความอาญาขึ้นใหม่ ทำให้ระบบของศาลยุติธรรมของประเทศไทยมีความก้าวหน้าทัดเทียมกับต่างประเทศ
               2. ทรงเป็นประธานกรรมการ ยกร่างกฎหมายลักษณะอาญาพุทธศักราช 2451 ซึ่งถือว่าเป็นประมวลกฎหมายไทยฉบับแรก ต่อมาใน วันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2500 ได้มีประกาศให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พุทธศักราช 2499 แทน กฎหมายลักษณะอาญา พุทธศักราช 2451 นี้นับได้ว่าเป็นพื้นฐานที่มาของประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบัน
               3. ทรงตั้งโรงเรียนสอนวิชากฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.. 2440 โดยพระองค์ทรงเป็นครูสอนร่วมกับพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) กรมหลวงพิชิตปรีชากรและพระองค์เจ้าวัชรีวงษ์ โดยมีผู้สนใจเข้าศึกษาเป็นจำนวนมาก
               4. ทรงนิพนธ์ตำราคำอธิบายกฎหมายลักษณะต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ทรงรวบรวมพระราชบัญญัติบางฉบับ คำพิพากษาบางเรื่อง โดยจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ มีคำอธิบาย และสารบาญไว้อย่างละเอียด นอกจากนี้ ยังทรงรวบรวมกฎหมายตราสามดวง โดยให้ชื่อว่า "กฎหมายราชบุรี"
               5. ทรงเป็นกรรมการตรวจตัดสินความฎีกา ซึ่งกรรมการชุดนี้มีชื่อเรียกว่า "ศาลกรรมการฎีกา" ทำหน้าที่เป็นศาลสูงสุดของประเทศแต่มิได้สังกัดกระทรวงยุติธรรม ต่อมาศาลกรรมการฎีกาได้เปลี่ยนมาเป็นศาลฎีกาในปัจจุบัน
               6. ทรงตั้งกองพิมพ์ลายมือขึ้นที่กองลหุโทษ เมื่อ พ.. 2443 สำหรับตรวจพิมพ์ลายมือผู้ต้องหาในคดีอาญา โดยได้เสด็จไปสอนวิชาตรวจเส้นลายมือและวิธีเก็บเส้นลายมือด้วยพระองค์เอง ซึ่งงานชิ้นนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพิสูจน์ลายมือที่กรมตำรวจทำอยู่ทุกวันนี้
               7. ทรงปรับปรุงกิจการกรมทะเบียนที่ดินให้ก้าวหน้า เช่น การแก้ปัญหาข้อกฎหมายต่าง ๆ ในเรื่องการ ทะเบียนที่ดินให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดินฉบับที่ 2 ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2459 และฉบับที่ 3 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2462
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ สิ้นพระชนม์เมื่อ วันที่ 7 สิงหาคม พ..2463 ด้วยโรควัณโรคที่พระวักกะ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในขณะที่มีพระชนมายุได้ 47 พรรษา
ในวันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปี บรรดานักกฎหมายไทย อาทิเช่น ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ อาจารย์สอนวิชากฎหมาย นิติกร ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องในทางนิติศาสตร์ทั้งหมดได้พร้อมใจกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์ ซึ่งได้รับยกย่องให้เป็น "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย" และเรียกวันนี้ว่า "วันรพี"
กฎหมายนั้นมีความหมายอยู่หลายประการ ซึ่งความหมายจะแปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ลักษณะของสังคมที่แตกต่างกัน สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ความต้องการของประชาชนในสังคม นั้น ๆ แต่หลักที่สำคัญและเป็นความหมายของกฎหมายโดยทั่วไปจะมีอยู่ 4 ประการ คือ
1. กฎหมายต้องเป็นคำสั่ง
2. กฎหมายถูกกำหนดขึ้นโดยผู้มีอำนาจในสังคม
3. กฎหมายใช้บังคับและเป็นที่ทราบแก่คนทั่วไป
4. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับแก่ผู้ฝ่าฝืน

ทฤษฎีของกฎหมาย :
มี 2 แนวคิด ดังนี้
              1. กฎหมายนั้นมีหรือเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติอยู่แล้ว กฎหมายลักษณะแนวคิดนี้จะเกิดจากความรู้สึกผิดชอบของมนุษย์ ที่เกิดจากภาวะในใจที่จะไม่อยากให้ใครกดขี่ข่มเหงและก็คิดว่าตัวเองก็ ไม่ควรจะไปกดขี่ข่มเหงคนอื่นเช่นกัน
              2. กฎหมายเกิดขึ้น โดยฝ่ายปกครองบ้านเมืองเป็นผู้กำหนดให้มีขึ้นลักษณะแนวคิดนี้จะเป็นการบัญญัติให้มีขึ้นตามความต้องการของสังคมที่จะมีเหตุผลหลายประการนำมาบัญญัติเป็นกฎหมายและผู้ที่จะสามารถออกกฎหมายได้จะต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในสังคมนั้น ๆ ที่เราเรียกว่ารัฏฐาธิปัตย์ จากแนวคิดดังกล่าว กฎหมายที่เกิดขึ้นโดยฝ่ายปกครองบ้านเมืองค่อนข้างจะมีอิทธิพลมากกว่าแนวคิดแรก เพราะเป็นเรื่องที่มองเห็นได้ชัดเจน และสามารถบังคับได้แน่นอน สร้างประสิทธิภาพได้ดี ที่สุด นอกจากแนวคิด 2 แนวที่วางหลักไว้อย่างเป็นสากลแล้ว ยังมีผู้ที่ได้พยายามให้ ความหมายทางด้าน ทฤษฎีกฎหมายหลายท่าน เช่น
                1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระองค์ได้รับสมญาว่าพระบิดาแห่งกฎหมายไทย ได้ทรงอธิบายไว้ว่า กฎหมายคือ คำสั่งทั้งหลายของผู้ปกครองว่าการแผ่นดินต่อราษฎรทั้งหลาย เมื่อไม่ทำแล้วตามธรรมดาต้องรับโทษ
                2. ศาสตราจารย์หลวงจำรูญ เนติศาสตร์ได้อธิบายเอาไว้ว่า "กฎหมายได้แก่ กฎข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติทั้งผู้มีอำนาจของประเทศได้บัญญัติขึ้นและบังคับให้ผู้ที่อยู่ในสังกัดของประเทศนั้นถือปฏิบัติตาม"
                3. ศาสตราจารย์ เอกูต์ ชาวฝรั่งเศส ได้อธิบายเอาไว้ว่า "กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อห้าม ซึ่งมนุษย์ต้องเคารพในความประพฤติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อันมาจากรัฏฐาธิปัตย์ หรือหมู่มนุษย์มีลักษณะทั่วไปใช้บังคับได้เสมอไปและจำต้องปฏิบัติตาม"

ความสำคัญของกฎหมาย

                มนุษย์เป็นสัตว์สังคมอยู่ร่วมกันเป็นหมู่ เป็นเหล่า ความเจริญของสังคมมนุษย์นั้นยิ่งทำให้สังคมมีความ สลับซับซ้อน ตามสัญชาตญาณของมนุษย์แล้ว ย่อมชอบที่จะกระทำสิ่งใด ๆ ตามใจชอบ ถ้าหากไม่มีการ ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์แล้ว มนุษย์ก็จะกระทำในสิ่งที่เกินขอบเขต ยิ่งสังคมเจริญขึ้นเพียงใด วามจำเป็น ที่จะต้องมีมาตรฐานในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ ที่จะต้องถือว่าเป็นมาตรฐานอันเดียวกันนั้นก็ยิ่งมี มากขึ้น เพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไปแก่ทุกคนในลักษณะของกฎเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งจะกำหนด วิถีทางการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย  กฎเกณฑ์และข้อบังคับหรือวิธีการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์มีการพัฒนา และมีวิวัฒนาการต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้นเราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากฎหมายไม่มีความจำเป็น และเกี่ยวข้องกับชีวิตคนเรา ในปัจจุบันนี้ กฎหมายได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเรามาก ตั้งแต่เราเกิดก็จะต้องแจ้งเกิดเพื่อขอสูติบัตร เมื่ออายุครบ 7 ปีบริบูรณ์ ก็ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชน จะสมรสกันก็ต้องจดทะเบียนสมรสจึงจะ สมบูรณ์และในระหว่างเป็นสามี ภรรยากันกฎหมายก็ยังเข้ามาเกี่ยวข้องไปถึงวงศาคณาญาติอีกหรือจน ตายก็ต้องมีใบตาย เรียกว่าใบมรณะบัตร และก็ยังมีการจัดการมรดกซึ่งกฎหมายก็ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง เสมอนอกจากนี้ในชีวิตประจำวันของคนเรายังมีความเกี่ยวข้องกับ ผู้อื่น เช่นไปตลาดก็มีการซื้อขายและ ต้องมี กฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องการซื้อขาย หรือการ ทำงานเป็นลูกจ้าง นายจ้างหรืออาจจะเป็น ข้าราชการก็ต้องมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา และที่เกี่ยวข้องกับชาติบ้านเมืองก็เช่นกัน ประชาชนมีหน้าที่ต่อบ้านเมืองมากมาย เช่น การปฏิบัติตนตามกฎหมาย หน้าที่ในการเสียภาษีอากร หน้าที่รับราชการทหาร สำหรับชาวไทย กฎหมายต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็มีมากมายหลายฉบัย เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายแรงงาน กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา "คนไม่รู้ กฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว" เป็นหลักที่ว่า บุคคลใดจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้หลุดพ้นจากความผิด ตามกฎหมายมิได้ ทั้งนี้ ถ้าหากต่างคนต่างอ้างว่าตนไม่รู้กฎหมายที่ทำไปนั้น ตนไม่รู้จริง ๆ เมื่อกล่าวอ้าง อย่างนี้คนทำผิดก็คงจะรอดตัว ไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องรับโทษกัน ก็จะเป็นการปิดหูปิดตาไม่อยากรู้กฎหมาย และถ้าใครรู้กฎหมายก็จะต้องมีความผิด รู้มากผิดมากรู้น้อยผิดน้อย ต่จะอ้างเช่นนี้ไม่ได้เพราะถือว่าเป็น หลักเกณฑ์ของสังคมที่ประชาชนจะต้องมีความรู้ เรียนรู้กฎหมาย เพื่อขจัดข้อปัญหาการขัดแย้ง ความ ไม่เข้าใจกัน ด้วยวิธีการที่เรียกว่า กฎเกณฑ์อันเดียวกันนั้นก็คือ กฎหมาย นั่นเอง

ประโยชน์ของกฎหมาย

               ประโยชน์ของกฎหมายอาจจะแบ่งออกได้เป็นหลาย ๆ ข้อ ทั้งสามารถนำเอากฎหมายมาแยกแยะ
ประโยชน์ดังนี้
               1. สร้างความเป็นธรรม หรือความยุติธรรมให้แก่สังคม เพราะกฎหมายเป็นหลักกติกาที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติเสมอภาค เท่าเทียมกัน เมื่อการปฏิบัติของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเอาเปรียบคนอื่น ขาดความยุติธรรม กฎหมายก็จะเข้ามาสร้างความยุติธรรม ยุติข้อพิพาทไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน ดังที่เรา เรียกกันว่า ยุติธรรม สังคมก็จะได้รับความสุขจากผลของกฎหมายในด้านนี้
               2. รู้จักสิทธิหน้าที่ของตัวเองที่จะปฏิบติต่อสังคม
               3. ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ เช่น การเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย การเป็น ทนายความอัยการ ศาล ทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยต่างฝ่ายต่างช่วยกันรักษาความถูกต้อง ความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม
               4. ประโยชน์ในทางการเมืองการปกครอง เพราะถ้าประชาชนรู้กฎหมายก็จะเป็นการเสริมสร้าง
ความมั่นคงของการปกครอง และการบริหารงานทางการเมือง การปกครอง ประโยชน์สุขก็จะตกอยู่กับ ประชาชน
               5. รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะกฎหมาย
ที่ดีนั้นจะต้องให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนเท่าเทียมกัน ประชาชนก็จะเกิดความผาสุก ปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อครอบครัว ต่อบุคคลอื่น และต่อประเทศชาติ
หน้าที่ หมายถึง ข้อปฏิบัติของบุคคลทุกคนที่จะต้องกระทำให้เกิดประโยชน์เป็นผลดีต่อประเทศชาติบ้านเมือง หน้าที่ต่าง ๆ ที่จะต้องปฏิบัติ ซึ่งกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญหลายประการ

หน้าที่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
               1. บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยหน้าที่ในข้อนี้ถือว่าเป็นหน้าที่อันสำคัญ
               2. บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ หน้าที่ข้อนี้มิใช่ว่าจะเป็นหน้าที่ของทหารเท่านั้น คนไทยทุกคนต้องมีหน้าที่เช่นเดียวกัน
               3. บุคคลมีหน้าที่รับราชการทหารเพราะการเป็นทหารนั้นจะได้ทำหน้าที่ป้องกันประเทศโดยตรงพอถึงวัยหรืออายุตามที่กฎหมายกำหนดก็จะต้องไปรับราชการทหาร แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับบางคนที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นไว้
              4. บุคคลมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายเนื่องจากกฎหมายเป็นหลักปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันในสังคม
จึงจะละเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้
              5. บุคคลมีหน้าที่ช่วยเหลือราชการ เมื่อถึงคราวที่ประชาชนพอจะช่วยเหลือได้ หรือเมื่อทางราชการขอความช่วยเหลือในฐานะที่เป็นประชาชนพลเมืองของชาติจึงต้องมีหน้าที่อันนี้ เช่น การช่วยพัฒนา ถนนหนทาง การช่วยบริจาคทรัพย์สินต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งช่วยกันดูแลความสงบเรียบร้อยของ บ้านเมือง โดยการเป็นหูเป็นตาให้ราชการ

กฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ เป็นกฎหมายที่รวบรวมเอา บทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องใน ทางแพ่งและพาณิชย์มาจัด เป็นหมวดหมู่ ลำดับเป็น เรื่อง ๆ ทั้งเป็นกฎหมาย ที่ สำคัญของชาติอีกฉบับหนึ่ง
                 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมายถึง กฎหมายที่รวมเอาบทบัญญัติที่เกี่ยวกับเรื่องในทางแพ่งและพาณิชย์มาไว้ด้วยกันเป็นหมวดหมู่ จัดระเบียบให้เข้ากัน การจัดทำกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.. 2535 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีเนื้อหาอยู่ทั้งหมด 6 บรรพ ที่หมายถึง 6 หมวดหมู่ใหญ่ ๆ เรียง ตามลำดับดังนี้
บรรพที่ 1 ว่าด้วยหลักทั่วไป
บรรพที่ 2 ว่าด้วยหนี้
บรรพที่ 3 ว่าด้วยเอกเทศสัญญา
บรรพที่ 4 ว่าด้วยทรัพย์สิน
บรรพที่ 5 ว่าด้วยครอบครัว
บรรพที่ 6 ว่าด้วยมรดก
               คำว่า "บรรพ" หมายถึง หมวดหมู่ใหญ่ของกฎหมาย หมวดหมู่ที่ย่อยลงมาจากบรรพ คือ ลักษณะ เช่นบรรพ 1 หลักทั่วไป แบ่งออกเป็นลักษณะบุคคล ลักษณะทรัพย์ ลักษณะนิติกรรม เป็นต้น

หลักทั่วไปในบรรพที่ 1

               1. เรื่องบุคคล บุคคล หมายถึง สิ่งที่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย โดยแบ่งบุคคลออกเป็น 2 ประเภท คือ
                      1.1 บุคคลธรรมดา หมายถึง มนุษย์ซึ่งมีสภาพบุคคลและสิ้นสุดสภาพบุคคลโดยการตายและต้องมีสิ่งซึ่งประกอบ หรือทำให้ความเป็นบุคคลปรากฏชัดเจนขึ้น ตามความประสงค์ของกฎหมายซึ่งเรียกว่า "สิ่งจำแนกตัวบุคคล" คือทำให้บุคคลหนึ่งแตกต่างจากบุคคลอื่น ได้แก่ ชื่อ ภูมิลำเนา
                      1.2 นิติบุคคล หมายถึง กลุ่มบุคคลหลายคนร่วมกันตั้งกลุ่มขึ้นโดยอาศัยอำนาจในทางกฎหมายกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คณะบุคคล หน่วยงาน บริษัทจำกัด กองทรัพย์สิน ฯลฯ ซึ่งกฎหมายยินยอมให้กระทำการได้ นิติบุคคล ไม่ใช่บุคคลธรรมดาไม่มีชีวิตจิตใจ จึงต้องมีผู้แทนนิติบุคคลแสดงเจตนา หรือกระทำ การแทน เช่น มีกรรมการ ผู้จัดการ เจ้าอาวาสวัด ฯลฯ ทำหน้าที่แทน ประเภทของนิติบุคคลตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น กระทรวง ทบวง กรม วัด ห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียน แล้ว บริษัทจำกัด สมาคม มูลนิธิ และนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น เช่น พรรคการเมือง รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
                2. เรื่องความสามารถของบุคคล
                ความสามารถของบุคคล หมายถึง ความสามารถในการมีสิทธิหรือใช้สิทธิตามกฎหมายปกติแล้วบุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิตามกฎหมายทัดเทียมกัน แต่ที่อาจแตกต่างกันออกไปก็คือ ความสามารถนการใช้สิทธิ ซึ่งบางครั้งก็ถูกจำกัดในการใช้ความสามารถ เนื่องจากกฎหมายได้จำกัดเอาไว้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลนั้น ๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย

              3. เรื่องทรัพย์
              ทรัพย์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
                      3.1 อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดิน ทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน เช่น ตึกรามบ้านช่อง ทรัพย์อันประกอบ เป็นอันเดียวกันกับที่ดิน สิทธิทั้งหลายอันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เช่น สิทธิ ครอบครอง สิทธิอาศัย
                      3.2 สังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์ทั้งหลายอันอาจขน เคลื่อนจากที่แห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่งได้ไม่ว่าเคลื่อนด้วยแรงเดินแห่งตัวทรัพย์นั่นเอง หรือเคลื่อนด้วยกำลังภายนอก กำลังแรงแห่งธรรมชาติอันอาจถือเอาได้ เช่น น้ำตก

               4. เรื่องนิติกรรม
               นิติกรรมเป็นศัพท์พิเศษใช้กันในภาษากฎหมาย ซึ่งหมายถึงการกระทำของบุคคลที่ชอบด้วย กฎหมายและโดยสมัครใจ มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล พื่อจะก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวแห่งสิทธิตามเจตนาของบุคคลนั้น แต่มีกรณีหนึ่งที่ไม่ได้สมัครใจและมิได้มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ แต่เป็นการกระทำของบุคคลที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ โดยเหตุซึ่งเกิดจาก กฎหมายบังคับหรือกำหนดไว้ เรียกว่า นิติเหตุ เช่น ละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้และในการ ทำนิติกรรมนั้นขอบเขตที่กฎหมายกำหนดห้ามไว้สำหรับวัตถุประสงค์มี 3 ประการ คือ
                        1. นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ที่เป็นการขัดต่อกฎหมาย เช่น ทำสัญญาจ้างฆ่าคน
                        2. นิติกรรมที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น ทำสัญญาค้าประเวณี
                        3. นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย เช่น ทำสัญญาซื้อขายบ้านที่ถูกไฟไหม้หมดแล้ว

หลักสำคัญเรื่องหนี้ในบรรพที่ 2
                  หนี้ คือ ความผูกพันทางกฎหมายระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย ซึ่งฝ่ายหนึ่งเรียกว่า "เจ้าหนี้" และอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า "ลูกหนี้" ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้และลูกหนี้ก็มีหน้าที่ 3 อย่างคือ
                  1. กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ตกลงกับเจ้าหนี้ เช่น นายจ้าง จ้างให้มาร้องเพลงแต่ถ้าไม่มานายจ้างเรียกร้องค่าเสียหายได้
                  2. งดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามคำสั่งของเจ้าหนี้ เช่น ให้หยุดตอกเสาเข็ม เพราะจะทำให้ตึกข้าง ๆ ร้าวเสียหาย
                  3. ทำการโอนทรัพย์สินและส่งมอบทรัพย์สิน คือ การโอนทรัพย์สินที่ตกลงกันเอาไว้ การระงับแห่งหนี้ หมายถึง หนี้ได้สิ้นสุดลงหรือได้ระงับลง ซึ่งมีอยู่ 5 กรณี
3.1. โดยการชำระหนี้
3.2. โดยการปลดหนี้
3.3. โดยการหักกลบลบหนี้
3.4. โดยการแปลงหนี้
3.5. โดยหนี้เกลื่อนกลืนกัน

ลักษณะสำคัญของเอกเทศสัญญาในบรรพที่ 3

                เอกเทศสัญญา คือ สัญญาอันเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ ซึ่งมีหลายลักษณะในบรรพ 3 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยจะยกให้เห็นเป็นบางลักษณะ ดังนี้
ลักษณะที่ 1 ซื้อขาย
               ซื้อขาย คือ สัญญาที่บุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อจะต้องใช้ราคาทรัพย์สินนั้น สัญญาซื้อขายมี 2 อย่าง ตามลักษณะของทรัพย์สิน ดังนี้
                1. สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่หรืออาจจะทำเป็นสัญญาจะซื้อ จะขาย ก่อนจะไปจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานก็ได้ เช่น การซื้อขายที่ดิน
                2. สัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ ถ้าราคาตกลงกัน 20,000 บาทหรือกว่าขึ้นไปก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ มีการวางมัดจำหรือมีการชำระหนี้บางส่วนจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ส่วนราคาทรัพย์ต่ำกว่านี้ก็ไม่ต้องทำเป็นหนังสือ ก็ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้
ทรัพย์สินที่ห้ามซื้อขาย
                 1. สาธารณสมบัติแผ่นดิน เช่น ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ที่ดินที่รัฐบาลหวงห้าม  เช่น ที่ดินในเขตป่าสงวน
                  2. ทรัพย์นอกพาณิชย์ ซึ่งหมายถึงทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้ หรือไม่อาจโอนให้กันโดยโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว
                  3. ทรัพย์สินที่กฎหมายห้ามขายหรือจำหน่าย เช่น รูปถ่าย สมุด หรือสิ่งของอันมีลักษณะเป็นของลามกอนาจาร
                  4. ทรัพย์สินที่กฎหมายห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ ทรัพย์สินนั้นจะซื้อขายกันไม่ได้ เช่น อาวุธปืนเถื่อน ฝิ่นเถื่อน สุราเถื่อน
ลักษณะที่ 5 เช่าซื้อ
                   สัญญาเช่าซื้อ หมายถึง สัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้น เท่านี้ เป็น คราว ๆ สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้เช่าซื้อ และผู้ให้เช่าซื้อ ถ้าหากผู้เช่าซื้อผิดนัด ไม่ใช้เงิน 2 คราวติดต่อกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสาระสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินที่ให้ เช่าซื้ออาจบอกเลิกสัญญาได้ ผู้เช่าซื้อจึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ และห้ามผู้เช่าซื้อจำหน่ายจ่ายโอน ทรัพย์สินที่เช่าซื้อมา ซึ่งอาจมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ได้ เพราะผู้เช่าซื้อยังไม่มีกรรมสิทธิในทรัพย์นั้น จนกว่าจะชำระราคาจนครบถ้วน
ลักษณะที่ 9 ยืม
                     สัญญายืม คือ สัญญาซึ่งคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้ยืม ได้ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่คู่สัญญาอีก ฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าผู้ยืม และผู้ยืมต้องคืนทรัพย์สินที่ยืมแก่ผู้ให้ยืม ซึ่งลักษณะของการยืม แยกได้ดังนี้
                1. ยืมใช้คงรูป หมายถึง สัญญาที่บุคคลคนหนึ่งเรียกว่า "ผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ยืม ได้ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมสัญญาว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จ" เช่น การยืมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ วิทยุ
                2. ยืมใช้สิ้นเปลือง หมายถึง สัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น เป็นปริมาณมีกำหนดให้แก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภทชนิดและปริมาณเช่นเดียวกัน ให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น
                3. การกู้ยืมนั้น มีบทบัญญัติแยกออกมาต่างหากเป็นกรณีพิเศษ และถือว่าการกู้ยืมเงินเป็นการยืมใช้สิ้นเปลืองอย่างหนึ่ง ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังนี้
                       3.1 การกู้ยืมเงินจะบริบูรณ์ได้ก็ด้วยการส่งมอบเงิน
                       3.2 พยานหลักฐานในการกู้ยืม ถ้ายืมเงินมากกว่าห้าสิบบาทขึ้นไป จะต้องมีหลักฐานกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งที่ลงลายมือชื่อผู้ยืมไว้ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ในกรณีผิดสัญญาและ ในการคิดดอกเบี้ยจะคิดเกินร้อยละ 15 บาทต่อปี ไม่ได้
                       3.3 การใช้เงินคืน ควรมีการเพิกถอนในเอกสาร คือมีการบันทึกข้อความลงในการกู้ยืมนั้นว่าได้ใช้เงินกันแล้วหรืออาจะเวนคืนเอกสารหลักฐานแห่งการกู้ยืม หรืออาจะให้ผู้ให้ยืมออกใบเสร็จรับเงิน หรือเอกสารอื่นใดก็ได้

หลักสำคัญเรื่องทรัพย์สินในบรรพที่ 4
                ความหมายของคำว่าทรัพย์ หมายถึง วัตถุที่มีรูปร่าง เช่น รถยนต์ วิทยุ บ้านที่ดิน ส่วนสิ่งอื่นที่ไม่มีรูปร่าง เช่น สิทธิ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร สิทธิในเครื่องหมายการค้า ไม่ใช่ทรัพย์สิน แต่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ความหมายของคำว่า ทรัพย์สิน หมายถึง ทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้
ดังนั้นคำว่าทรัพย์สินจึงมีความหมายกว้างกว่าทรัพย์  การได้มาและสิ้นไปซึ่งทรัพย์สิน หมายถึง สิทธิเหนือทรัพย์สินหรือเรียกว่า ทรัพย์สินจะเกิดขึ้นได้ก็แต่โดยอำนาจแห่งกฎหมาย เช่น
               1. กรรมสิทธิ์ หมายถึง ความเป็นเจ้าของการครอบครองทรัพย์สินที่สำคัญที่สุด
               2. สิทธิครอบครอง หมายถึง สิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน เช่น ผู้เช่าย่อมมีสิทธิครอบครอง
ทรัพย์สิน เช่น ผู้เช่าย่อมมีสิทธิครอบครองทรัพย์สินที่เช่าเจ้าของที่ดินที่ไม่มีโฉนด แต่มีเอกสารอื่นแทน เช่น น.. 3 , .. 1 ก็ถือว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
               3. ภาระจำยอม หมายถึง การที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ต้องรับภาระบางอย่างอันกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่าง ซึ่งตนควรจะมีสิทธินั้นอยู่แต่ต้องงดเว้น เช่น การปล่อยให้คนเดินผ่านที่ดินของตนจนเวลาเลย 10 ปีขึ้นไป
               4. สิทธิอาศัย หมายถึง สิทธิบุคคลจะอาศัยอยู่ในโรงเรือนของผู้อื่นโดยไม่ต้องเสีย ค่าเช่า
               5. สิทธิเหนือพื้นดิน หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งมีสิทธิเป็นเจ้าของโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งเพาะปลูกบนดิน หรือใต้ดินนั้น โดยไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินนั้น
               6. สิทธิเก็บกิน หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งมีสิทธิใช้สอย ถือประโยชน์จัดการและเอาประโยชน์บางอย่างจากทรัพย์สินของบุคคลอื่น โดยที่ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น
               7. ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าของอสังหา
ริมทรัพย์ แต่มีสิทธิได้รับชำระหนี้เป็นคราว ๆ จากทรัพย์สินนั้นหรือได้ใช้ ตลอดจนถือเอาซึ่งประโยชน์ แห่งทรัพย์สินนั้น
                8. ทางจำเป็น หมายถึง ที่ดินแปลงใดที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่เช่น สระ บึง หรือทะเลล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ก็มีสิทธิสามารถที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ได้
                หมายเหตุ ตามข้อ 4-7 ถ้าไม่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ใช้ยันได้เฉพาะคู่กรณี และเฉพาะสิทธิเหนือพื้นดินตกทอดทางมรดกได้เท่านั้น


หลักสำคัญเรื่องครอบครัวในบรรพที่ 5
1. การหมั้น
                ชายและหญิงจะทำการหมั้นกันได้ต่อเมื่อต่างมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด อายุไม่ถึง 17 ปีบริบูรณ์ การหมั้นนั้นย่อมเป็นโมฆะ การหมั้นจะต้องมีของหมั้นและจะต้องส่งมอบหรือโอนทรัพย์สิน อันเป็นของหมั้นแก่หญิงและตกเป็นสิทธิแก่หญิงทันที การหมั้นจะต้องได้รับความยินยอมดังต่อไปนี้
1. บิดาและมารดาในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา
2. บิดาหรือมารดาในกรณีที่บิดาหรือมารดาตายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกถอนอำนาจปกครอง
3. ผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
4. ผู้ปกครอง ในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมตามข้อ 1 2 3 ได้การหมั้นที่ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ
2. การสมรส
                 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนได้ และการสมรสจะถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ก็ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนสมรสกันแล้ว
ประโยชน์ของการจดทะเบียนสมรส
                 1. เป็นหลักประกันความมั่นคงว่า เมื่อคู่สมรสได้จดทะเบียนสมรสกันแล้ว สามีหรือภรรยาจะไปจดทะเบียนสมรสอีกไม่ได้ ถ้ามีการจดทะเบียนสมรสอีกฝ่ายหนึ่งยกขึ้นกล่าวอ้างได้โดยไม่ต้องรอ ให้ศาลพิพากษาเสียก่อน
                 2. ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้
                 3. ชายหญิงที่อายุ 17 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ เมื่อจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็กลายเป็นผู้บรรลุนิติภาวะคือ สามารถทำกิจการงานได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอม จากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง แม้จะหย่ากันในภายหลังก็ยังบรรลุนิติภาวะอยู่อย่างเดิม
3. ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา
 ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา 2 ประเภท
             3.1 สินส่วนตัว ได้แก่ทรัพย์สินที่ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

      • เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามสมควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
      • ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา
      • ของหมั้น
               3.2 สินสมรส ได้แก่ ทรัพย์สินที่
      • คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรส
      • ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรม หรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
      • เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
      • ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส
4. ความสัมพันธ์ในครอบครัว
              4.1 สามีภรรยาต้องอยู่กินกันฉันสามีภรรยา และต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน
              4.2 บุตรมีสิทธิใช้นามสกุลของบิดาและมีสิทธิรับมรดกของบิดา
              4.3 บิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร จนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะต้องให้การศึกษาแก่บุตรแม้บุตรจะอายุ 20 ปีแล้ว แต่พิการและหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ก็ยังต้องอุปการะ เมื่อบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
             4.4 บุตรจะฟ้องบุพการีของตนไม่ได้
             4.5 บิดามารดามีอำนาจปกครองบุตร ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
             4.6 บุคคลที่จะรับผู้อื่นเป็นบุตรบุญธรรมได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องแก่กว่าผู้ที่จะมาเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
             4.7 บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะเช่นเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม


ลักษณะสำคัญเรื่องมรดกในบรรพที่ 6
                เมื่อบุคคลใดตายถ้าทำพินัยกรรมไว้มรดกก็จะตกทอดแก่บุคคลที่ผู้ตายได้ระบุไว้ในพินัยกรรมหากไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้มรดกก็จะตกทอดแก่บุคคลที่เป็นญาติและคู่สมรสของผู้ตายดังนั้น  ทายาทที่มีสิทธิในการรับมรดกจึงมีอยู่ 2 กรณี คือ
               1. สิทธิตามกฎหมาย ผู้รับมรดก เรียกว่า ทายาทโดยธรรม
               2. สิทธิตามพินัยกรรม ผู้รับมรดก เรียกว่า ผู้รับพินัยกรรม
พินัยกรรม คือ การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายเอาไว้ พินัยกรรมจะมีหลายแบบ เช่น
              1. แบบธรรมดาหรือทั่วไป
              2. แบบเขียนเองทั้งฉบับ
              3. แบบเอกสารฝ่ายเมือง
              4. แบบเอกสารลับ
              5. แบบทำด้วยวาจา
              6. แบบทำในต่างประเทศ
              7. แบบทำในภาวะสงคราม
              พินัยกรรมทั้ง 7 แบบ มีแบบที่สำคัญซึ่งเป็นแบบที่ง่าย ๆ คือ แบบเขียนเองทั้งฉบับ เพราะเขียนด้วยลายมือผู้ทำพินัยกรรมเองตลอดทั้งฉบับ โดยมีวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรม มีข้อความตามต้องการ และไม่ต้องมีพยานรู้เห็นในการทำพินัยกรรมแต่อย่างใด

กฎหมายอาญา
               เป็นกฎหมายที่รวมเอา บทบัญญัติความผิดในทางอาญา รวมทั้การลงโทษมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม
               กฎหมายอาญา
คือ กฎหมายที่รวมเอาลักษณะความผิดต่าง ๆ และกำหนดบทลงโทษมาบัญญัติขึ้นด้วยมีจุดประสงค์จะรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคม การกระทำที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคม หรือคนส่วนใหญ่ของประเทศถือว่าเป็นความผิดทางอาญาหากปล่อยให้มีการแก้แค้นกันเองหรือ ปล่อยให้ผู้กระทำผิดแล้วไม่มีการลงโทษจะทำให้มีการกระทำความผิดทางอาญามากขึ้นสังคมก็จะขาด ความสงบสุข

ความรับผิดในทางอาญาหรือการกระทำความผิดทางอาญาซึ่งจะเกิดผลร้ายทำให้ถูกลงโทษนอก จากจะต้องเป็นการกระทำที่มีกฎหมายบัญญัติว่า เป็นความผิดแล้วผู้กระทำผิดยังต้องทำไปด้วยเจตนาด้วย ยกเว้นการกระทำบางชนิดที่มีกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า แม้กระทำโดยไม่เจตนา หรือกระทำ โดยประมาทก็ต้องรับผิด
               เจตนา คือ การกระทำผิดทางอาญาที่ผู้กระทำรู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นความผิดแล้วยังทำลงไปทั้ง ๆ ที่รู้สำนึกในการที่กระทำ
               ประมาท คือ การกระทำที่ผู้กระทำมิได้ตั้งใจให้เกิดผลร้ายแก่ใคร แต่เนื่องจากกระทำโดยไม่ระมัดระวังหรือระมัดระวังไม่เพียงพอ ทำให้เกิดผลร้ายแก่ผู้อื่น
               ไม่เจตนา คือ การกระทำที่ผู้กระทำตั้งใจทำเพื่อให้เกิดผลอย่างหนึ่ง แต่ผลเกิดขึ้นมากกว่าที่ตั้งใจไว้
                พยายามกระทำความผิด คือผู้กระทำความผิดได้ลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอดหรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล
                ตัวการ คือ กรณีที่ความผิดได้เกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำ ความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ
               ผู้สนับสนุน คือ ผู้ที่กระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด
                ความผิดต่อแผ่นดิน คือ ความผิดในทางอาญาในเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่นอกจากจะมีผลต่อตัวผู้รับผลร้ายแล้วยังมีผลกระทบต่อสังคมเสียหายอีกด้วย และยอมความไม่ได้
                ความผิดต่อส่วนตัว คือ ความผิดในทางอาญาซึ่งไม่ได้มีผลร้ายกระทบต่อสังคมโดยตรง หากตัวผู้รับผลร้ายไม่ติดใจเอาความแล้ว รัฐก็ไม่อาจยื่นมือเข้าไปดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้และถึงแม้จะได้ ดำเนินคดีไปบ้างแล้ว เมื่อตัวผู้เสียหายพอใจยุติคดีเพียงใดก็ย่อมทำได้ด้วยการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความได้
สภาพบังคัญทางอาญา "บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นต้องเป็นโทษที่ บัญญัติไว้ในกฎหมาย" ลักดังกล่าวนี้เป็นหลักสภาพบังคับทางอาญาที่สำคัญซึ่งอาจจะถือได้ว่า เป็นหัวใจของ กฎหมายอาญา หลักนี้ได้กล่าวถึงลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญาเอาไว้ 4 ประการ คือ
1. กฎหมายอาญาต้องชัดเจนแน่นอน
2. ห้ามใช้กฎหมายจารีตประเพณีลงโทษทางอาญาแก่บุคคล
3. ห้ามใช้กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งลงโทษทางอาญาแก่บุคคล
4. กฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลัง
โทษทางอาญาหรือสภาพบังคับทางอาญานั้น มีผลหรือมาตรการที่รุนแรงในเรื่องการจำกัดสิทธิ ในร่างกาย ดังนั้นจะต้องมีความชัดเจนแน่นอนไม่กำกวม ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายแพ่งกล่าวคือ ในกฎหมายแพ่งนั้นมีหลักอยู่ว่าจะปฏิเสธว่าไม่มีกฎหมายมาปรับใช้ไม่ได้ส่วนกฎหมายอาญานั้น จะอุดช่องว่างของกฎหมายโดยการเทียบเคียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในทางที่เป็นโทษไม่ได้ แต่ในทางที่เป็นคุณแล้วย่อมกระทำได้
ความผิดตามกฎหมายอาญามีหลายประเภท แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 9 กลุ่มจะกล่าวเฉพาะ ความผิดที่มีผลกระทบต่อประชาชนและเป็นคดีความไปสู่ศาลมากน้อยตามลำดับ ดังนี้
1. ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ของผู้อื่น
      • ลักทรัพย์
      • วิ่งราวทรัพย์
      • ชิงทรัพย์
      • ปล้นทรัพย์
      • ยักยอกทรัพย์
      • ฉ้อโกงทรัพย์
      • รับของโจร
      • บุกรุก
      • ทำให้เสียทรัพย์
2. ความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกายผู้อื่น
      • ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
      • ฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา
      • ทำร้ายร่างกายผู้อื่น
      • ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วย หรือคนชรา
3. ความผิดเกี่ยวกับเพศ
               ได้แก่ การกระทำให้เกิดความเสื่อมเสียในทางเพศแก่ผู้อื่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กสาว หรือหญิงสาว แต่บางความผิดอาจเป็นผู้ชายหรือคนชราก็ได้
4. ความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลง
               การปลอมแปลง คือ การทำให้มีขึ้นซึ่งของปลมอ เช่น ธนบัตรปลอม เอกสารปลอมโฉนดที่ดินปลอม การแปลง คือ การทำของเดิมซึ่งมีอยู่จริงเปลี่ยนสภาพไป เช่น เจาะเอาเนื้อเงินออกจากเหรียญห้าบาทบางส่วน
5. ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน
      • ความผิดฐานการวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น
      • ทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท
      • ปลอมปนอาหาร ยา เครื่องอุปโภค บริโภค
6. ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศชาติ
      • การคิดร้ายทำลายสถาบันกษัตริย์
      • การคิดร้ายทำลายผู้แทนของประเทศที่มีสัมพันธไมตรีกับไทย
      • การคิดร้ายต่อประเทศไทย
7. ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง
      • การดูถูก ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
      • การติดสินบนเจ้าพนักงาน
      • การต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
8. ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
      • เจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ของทางราชการ
      • เจ้าพนักงานรับสินบนจากประชาชน
      • เจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ
      • เจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่
      • เจ้าพนักงานละทิ้งหน้าที่
9. ความผิดลหุโทษเป็นความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งมีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้
      • ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท
      • แม้กระทำโดยไม่มีเจตนาก็เป็นความผิด
      • ผู้พยายามหรือผู้สนับสนุนไม่ต้องรับโทษ
-------------------------------------------------------------------
ที่มา : ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช : 2539)
        : ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับราชกิจจานุเบกษาและแก้ไขเพิ่มเติม)
       
: ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  (ฉบับราชกิจจานุเบกษาและแก้ไขเพิ่มเติม)
       
: (http://www.metro.police.go.th
)  วันที่ 4  สิงหาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น